ด้วยเทรนด์สุขภาพจึงทำให้ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคหันมาเลือกบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่เป็น sugar-free (ไม่ใส่น้ำตาล) และใส่สารให้ความหวานแทนน้ำตาลกันมากขึ้น ที่รู้จักกันดีคือ “แอสปาแตม” ที่เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารกันมาอย่างยาวนาน แต่ที่เห็นกันบ่อยๆ ในระยะหลังๆ คือ “ซูคราโลส” ซึ่งก็เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่พบเห็นได้บ่อยเมื่อพลิกดูฉลากโภชนาการหลังผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มต่างๆ
แอสปาแตม
รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระุบว่า แอสปาแตม เป็นสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลตัวหนึ่ง ที่นิยมนำมาใส่ในอาหารและเครื่องดื่มแทบจะทุกชนิด ยกเว้นแต่พวกเบเกอรี่ ขนมอบ เพราะมันจะสลายได้เมื่อถูกความร้อนสูง และจะสูญเสียความหวานไป
แอสปาแตมเป็นสารให้ความหวานกลุ่มที่ไม่ใช่น้ำตาลจริง แต่มีความหวานเหมือนกับน้ำตาลทราย (ซูโคลส) แต่จะหวานคาปากนานกว่า และมีระดับความหวานสูงกว่าน้ำตาลทราย ถึง 180-200 เท่า ดังนั้น แม้ว่าจริงๆ แล้วมันจะให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่ปริมาณที่ใส่ลงไปในอาหารให้เกิดความหวานนั้น ใช้เพียงแค่เล็กน้อยก็หวานแล้ว จึงมักจะถือกันว่า แทบจะไม่ต้องนับแคลอรี่ที่แอสปาแตมให้กับอาหารนั้น
ความปลอดภัยในการบริโภคแอสปาแตม
สำหรับเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคแอสปาแตมนั้น มันเป็นสารปรุงแต่งอาหารที่ได้รับการทดสอบอย่างเข้มข้นมากที่สุดแล้วตัวหนึ่ง และได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยในการบริโภคของมนุษย์จากองค์กรด้านอาหารและยาทั่วโลกกว่า 100 แห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ รวมถึงประเทศไทย
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญขององค์การอาหารโลกและองค์การอนามัยโลก รวมทั้งคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ด้านอาหารของคณะกรรมาธิการยุโรป ได้กำหนดให้ระดับของการบริโภคแอสปาแตมต่อวันไว้ที่ไม่เกิน 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ขณะที่ อย. ของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ที่ 50 mg/kg นั้นคือ ถ้าคนที่น้ำหนักตัว 75 กิโลกรัม ดื่มน้ำอัดลมไดเอ็ตขนาด 355 มิลลิลิตร ที่ใส่แอสปาแตมไป 0.18 กรัม ก็จะดื่มได้ถึง 21 กระป๋องต่อวัน
นอกจากนี้ยังมีรายงานวิชาการต่างๆ ที่ระบุว่า แอสปาแตมสามารถลดปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับ และลดน้ำหนักตัว ของทั้งผู้ใหญ่และเด็กได้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในเลือด อินซูลิน คอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์ ปริมาณแคลอรี่ที่ร่างกายได้รับ หรือน้ำหนักตัว แถมยังช่วยเพิ่มระดับของ HDL (high-density lipoprotein หรือคลอเรสเตอรอลตัวที่ดีต่อร่างกาย) และยังไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างแอสปาแตมกับมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม แอสปาแตมก็มีอันตรายต่อคนบางคนได้ นั่นคือ คนที่เกิดมาเป็นโรคฟีนีลคีโตนูเรีย (phenylketonuria หรือ PKU) ซึ่งเป็นโรคพันธุกรรมที่ค่อนข้างหาได้ยาก โดยร่างกายจะไม่สามารถย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนีลอะลานีนได้ และต้องควบคุมปริมาณอาหารที่มีฟีนีลอะลานีน ซึ่งก็ร่วมถึงแอสปาแตมด้วยนั่นเอง ดังจะเห็นได้ว่า ข้างของบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ใส่แอสปาแตมเพิ่มความหวาน จะต้องมีคำเตือนสำหรับผู้ที่เป็นโรค PKU ไว้ด้วย
ซูคราโลส
ซูคราโลสเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาล 600 เท่า จึงใช้ในปริมาณน้อยกว่าน้ำตาลมาก ให้ความหวานใกล้เคียงกับน้ำตาล แต่ไม่มีรสขมติดลิ้น ละลายในน้ำได้ดี ใช้ปรุงอาหารและขนมทุกชนิดที่ต้องใช้ความร้อนสูงและไม่สูญเสียความหวาน
ความปลอดภัยในการบริโภคซูคราโลส
ซูคราโลสปลอดภัย ได้รับการรับรองโดย อย.ไทย และ อย.สหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้อนุญาตให้ใช้ซูคราโลสเติมลงในอาหาร 14 ชนิด ได้แก่ ขนมอบและแป้งผสมสำหรับทำขนมอบ เครื่องดื่ม หมากฝรั่ง ชาและกาแฟ ผลิตภัณฑ์จากนม อาหารหวานแช่เยือกแข็ง น้ำสลัด ผลไม้หวานเย็น เจลาติน พุดดิ้ง แยมเยลลี่ ผลไม้กระป๋องและน้ำผลไม้ สารแทนน้ำตาล ซอส และน้ำเชื่อม
นอกจากนี้ยังไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือระดับอินซูลิน ใช้ได้ในอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ดังนั้นในด้านความปลอดภัย จึงใกล้เคียงกันกับแอสปาแตม
อย่างไรก็ตาม การผลิตซูคราโลสทำโดยการเพิ่มคลอรีนเข้าไปในโมเลกุลน้ำตาล ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้กระเพาะของเราไวต่อสิ่งกระตุ้นมากขึ้น และอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ด้วยในบางคน
แอสปาแตม VS ซูคราโลส
ซูคราโลสมีข้อดีกว่าแอสปาแตม ตรงที่ยังคงความหวานไว้ได้ แม้ว่าจะถูกนำไปให้ความร้อนสูงกว่าตาม แถมมีอายุการเก็บรักษาที่นานกว่าแอสปาแตมถึง 2 เท่า ดังนั้นเราอาจจะเห็นหลากหลายผลิตภัณฑ์จากหลากหลายผู้ผลิตที่หันมานิยมใช้ซูคราโลสกันมากกว่า
นอกจากแอสปาแตม และซูคราโลสแล้ว ยังมี สติเวีย หรือหญ้าหวาน ที่เป็นสารให้ความหวานที่เป็นที่นิยมเช่นกัน โดยให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลราว 300 เท่า สกัดจากธรรมชาติ สามารถปรุงอาหารที่มีความร้อนสูงได้ แต่ข้อเสียคืออาจจะมีราคาสูงมากกว่าแอสปาแตม และซูคราโลส
สรุปคือ ทั้งแอสปาแตม และซูคราโลส มีความปลอดภัยในการบริโภคมากพอๆ กัน อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ระบุว่า การบริโภคในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายได้ เพราะวัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลบางชนิดนั้นไม่มีคุณค่าทางโภชนาการเลย โดยเฉพาะผู้บริโภคทั่วๆ ไป การใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลจึงไม่ใช่ความจำเป็นแต่เป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น อย่าลืมว่าสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงมาจากการบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียด เท่านี้ก็เป็นเจ้าของสุขภาพดีได้โดยอาจจะไม่ต้องพึ่งสารให้ความหวานแทนน้ำตาลเลยก็ได้
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,lovefitt.com,sanook.com